1 บทที่ 1 พัฒนาการของแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ The Development of the Concepts of Health and Health Promotion แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ ในอดีตบุคลากรทางสุขภาพและประชาชนทั่วไปให้ความสำคัญกับโรคและความ เจ็บป่วย แต่ปัจจุบันต่างหันมาให้ความสนใจกับเรื่อง “สุขภาพ” มากขึ้น แต่การที่จะบอกว่า การมี “สุขภาพดี” เป็นอย่างไร ในแต่ละวัฒนธรรม แต่ละศาสตร์ หรือ แต่ละบุคคล อาจให้คำนิยามแตกต่างกัน ดังเช่น ฮิปโปเครติส (Hippocrates, 460-367 B.C.) แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยกรีก ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และการรักษาโรค หรือความผิดปกติของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไม่สามารถแยกออกจากความเป็นคนทั้งคน ของเขาได้ การมีสุขภาพดีถือเป็นความดีอย่างหนึ่งที่ต้องรักษาเหมือนคุณธรรม แพทย์ในสมัยกรีก เวลาที่ตรวจรักษาผู้ป่วยก็จะดูทั้งระบบ ตั้งแต่ลักษณะภายนอก พฤติกรรม อาการ อาการแสดง อารมณ์ ลักษณะอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ มีการสัมภาษณ์ผู้ป่วย ครอบครัวและเพื่อน และมีการลงบันทึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของผู้ป่วย เหมือนการบันทึกประวัติกรณีศึกษา (Smith, 1983, p.24) ฮิปโปเครติส ได้กล่าวว่า สุขภาพคือ ภาวะสมดุลของของเหลว 4 อย่างในร่างกาย คือ เลือด เสมหะ น้ำเหลือง และน้ำดี ซึ่งมีคุณสมบัติ ร้อน เย็น แห้ง และเปียกตามลำดับ สมดุลนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี สมดุลระหว่างของเหลวทั้ง 4 อย่างในร่างกายกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดความไม่สมดุลก็จะเกิด ความเจ็บป่วยซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากอาการแสดง เช่น เมื่อมีไข้จะร้อนบริเวณหน้าผาก แสดงว่ามีความไม่สมดุลของเลือด มีน้ำมูกไหลแสดงว่ามีความไม่สมดุลของเสมหะ (Weiss & Lonnquist, 2000, p.17) ในขณะที่ทางตะวันออก แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพตามทฤษฎีการ แพทย์แผนไทย ได้อธิบายสุขภาพไว้ในลักษณะองค์รวมโดยที่ธาตุทั้ง 4 ของร่างกายได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะต้องอยู่ในภาวะสมดุล ร่างกายจึงจะเป็นปกติไม่เจ็บป่วย นอกจากนี้ สมดุลธาตุทั้ง 4 ยังขึ้นกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, 2539)
preview25
To see the actual publication please follow the link above